![]() นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลเลือดในเห็บดึกดำบรรพ์ อำพันเป็นฟอสซิลยางไม้ในในยุคดึกดำบรรพ์ที่เกิดการแข็งตัวและคงสภาพจนปรากฏมาให้เราพบเห็นเป็นฟอสซิลในปัจจุบัน ชั่วขณะที่ยางไม้หยาดมาจากเนื้อไม้ ความเหนียวหนืดของมันอาจจะไปดักจับเอาเศษซากพืชหรือสัตว์ตัวเล็กๆผู้โชคร้ายติดมาด้วย โดยทั่วไป สิ่งที่ไม่ใช่โครงสร้างแข็งอย่างกระดูกจะไม่สามารถผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบันให้เราได้ศึกษาได้ แต่ก้อนอำพันจะรักษาสภาพสิ่งที่อยู่ข้างในเอาไว้เป็นอย่างดีจนนักบรรพชีวินวิทยาสามารถนำมาใช้ศึกษาประวัติของโลกในยุคโบราณได้ หนึ่งในข่าวดังที่เป็นที่ฮือฮาเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็คือการค้นพบขนนกที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ในอำพันจากเมียนมา และในปีนี้ นักกีฏวิทยา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ George Poinar ได้ค้นพบซากเม็ดเลือดแดงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเป็นครั้งแรกจากก้อนอำพันที่ขุดขึ้นมาจากเหมืองในสาธารณรัฐโดมินิกัน อำพันก้อนนี้มีอายุราว 15-45 ล้านปี ถือกำเนิดขึ้นในยุคเทอร์เชียรี (Tertiary) ซึ่งเป็นยุคทองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพราะสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อย่างพวกไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว สิ่งที่ถูกฝังอยู่ข้างในก้อนอำพันเป็นเห็บที่อยู่ในจีนัส Ambylomma ซึ่งลำตัวของมันถูกเจาะเป็นรูโบ๋สองรูทำให้เลือด(สัตว์ที่มันเกาะอยู่)ทะลักออกมาอยู่ในเนื้อของอำพันด้วย ซากเซลล์เม็ดเลือดที่พบในก้อนอำพันมีรูปร่างคล้ายกับเซลล์เม็ดเลือดแดงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในปัจจุบันซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการหากินของเห็บ นอกจากนี้ รูบนลำตัวเห็บยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า ก่อนตายมันกำลังดูดเลือดจากสัตว์กลุ่มลิง เพราะสมาชิกในฝูงลิงจะหาเห็บให้กันและกันแล้วใช้เล็บตัวเองจิกเอาเห็บออกมาจากตัวเพื่อน เห็บตัวนี้จึงหลุดแล้วตกลงมาบนยางไม้ ก่อนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของก้อนอำพันในที่สุด เท่านี้ยังไม่พอ George ยังพบว่าซากเซลล์เม็ดเลือดแดงบางส่วนมีลักษณะผิดปกติ ทั้งยังมีสีคล้ำกว่าเซลล์อื่นๆ เมื่อตรวจสอบให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เขาพบว่ามันเป็นเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อปรสิต นอกจากนี้ยังพบปรสิตดังกล่าวอยู่ตามทางเดินอาหารและโพรงลำตัวของเห็บด้วย George ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับปรสิตโบราณที่เขาค้นพบว่า Paleohaimatus calabresi คำแรกแปลว่า “เลือดยุคโบราณ” ส่วนคำหลัง calabresi มาจากนามสกุลของ Vincent Calabrese ผู้ที่มอบก้อนอำพันนี้ให้กับ George ญาติใกล้ชิดของ P. calabresi ที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นเชื้อที่แพร่กระจายโดยใช้เห็บเป็นพาหะ มันก่อให้เกิดโรค Babesiosis ซึ่งมีอาการคล้ายมาลาเรียและร้ายแรงถึงตาย และอีกสายพันธุ์หนึ่งก็เป็นต้นเหตุของโรคไข้เห็บในวัว (Texas cattle fever) ซึ่งเพิ่งระบาดไปเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา “รูปแบบของชีวิตที่เราพบในก้อนอำพันได้เผยให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคที่เรายังคงต้องต่อสู้กับมันจนทุกวันนี้ ปรสิตตัวนี้มีชีวิตอยู่เมื่อหลายล้านปีมาแล้วก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น และวิวัฒนาการเคียงคู่ไพรเมทและเจ้าบ้านกลุ่มอื่นๆมาจนถึงปัจจุบัน” George กล่าวปิดท้าย เรียบเรียงโดย ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์(นักชีววิทยา) ที่มา งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Medical Entomology (https://doi.org/10.1093/jme/tjw247) http://iflscience.com/plants-and-animals/ancient-monkey-blood-found-fossilized-in-amber/ |