ลำดับโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต

      อะตอม (atom) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด อะตอมหลาย ๆ อะตอมรวมกันเป็นโมเลกุล (molecule) โมเลกุลหลาย ๆ โมเลกุล ประกอบกันเป็นออร์แกเนลล์ (organelle) และแต่ละออร์แกเนลล์ทำงานร่วมกันกลายเป็นเซลล์ (cell) ในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวกิจกรรมต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นภายในเซลล์ 1 เซลล์เท่านั้น ส่วนสิ่งมีชีวิตที่มีหลายเซลล์ ต้องอาศัยการทำงานประสานกันของเซลล์จำนวนมาก กลุ่มเซลล์ที่รูปร่างเหมือนกันและทำหน้าที่รูปร่างเหมือนกันและทำหน้าที่ อย่างเดียวกันรวมกันเป็นเนื้อเยื่อ (tissue) เช่น เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ กลุ่มเนื้อเยื่อหลาย ๆ กลุ่ม ประกอบกันเป็นอวัยวะ (organ) ซึ่งทำหน้าที่เฉพาะอย่าง ในสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น อวัยวะหลายอวัยวะจะทำงานร่วมกันเป็นระบบอวัยวะ (organ system) เช่น ระบบขับถ่าย ดังภาพที่ 1.1 ระบบประสาท ระบบไหลเวียนเลือด เป็นต้น ระบบอวัยวะต่าง ๆ นี้ จะทำงานประสานกันในกระบวนการดำรงชีวิต


นื้อเยื่อสัตว์
เนื้อเยื่อสัตว์แบ่งออกเป็น 4 ชนิด (ภาพที่ 1.2 )แต่ละชนิดประกอบด้วยเซลล์ที่มีขนาด รูปร่าง และการจัดตัวเป็นแบบเฉพาะ ได้แก่
   1. เนื้อเยื่อบุผิว (epithelial tissue หรือ epithelim)
   2. เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue)
  3. เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ (muscle tissue)
  4. เนื้อเยื่อประสาท (nervous tissue)




เนื้อเยื่อบุผิว (ภาพที่ 1.3)
    ประกอบด้วยเซลล์อยู่กันแน่น เรียวชั้นต่อเนื่องกันไป หรือเป็นชิ้น หรือเป็นแผ่นเซลล์ปกคลุมผิวร่างกาย หรือบุช่องว่างภายในลำตัว หรือยอมให้สารผ่านได้หรือไม่ได้ โดยผิวด้านหนึ่งของเซลล์จะติดกับเยื่อรองรับฐาน (basement membrane) ซึ่งประกอบด้วย เส้นใย (fiber)
บาง ๆ เล็ก ๆ และพอลิแซ็กคาไรด์ ที่สร้างจากเซลล์ของเนื้อเยื่อบุผิวเอง เนื้อเยื่อชนิดนี้ ทำหน้าที่ป้องกัน ดูดซึมหลั่งสาร และรับความรู้สึก เช่น เนื้อเยื่อบุผิวที่พบชั้นนอกของผิวหนังจะทำหน้าที่ปกคลุมร่างกายทั้งหมดและ ป้องกันอวัยวะข้างใต้จากสิ่งแวดล้อมภายนอก รวมทั้งการบาดเจ็บทางกล สารเคมี การสูญเสียของเหลวจากร่างกาย และเชื้อโรคต่าง ๆ เช่นแบคทีเรีย เยื่อบุทางเดินอาหาร จะดูดซึมสารอาหาร และน้ำเข้าสู่ร่างกาย ทุกอย่างที่เข้าและออกจากร่างกายจะต้องผ่านเนื้อเยื่อบุผิว 1 ชั้นเป็นอย่างน้อย และนอกจากนี้เนื้อเยื่อบุผิวยัง อาจดัดแปลงไปทำหน้าที่อื่นพิเศษได้อีก เช่น เป็นต่อมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์จากเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์บุผิวหลายชนิดจะมีการสูญเสีย และหมดสภาพไปตลอดเวลา ดังนั้นเซลล์เหล่านี้จะมีอัตราเร็วของการแบ่งตัวสูงมาก เซลล์ใหม่จะแทนที่เซลล์เก่าที่สูญเสียไปทันอยู่เสมอ



นักชีววิทยาแบ่งเนื้อเยื่อบุผิวออกเป็นชนิดต่าง ๆ แตกต่างกันตามรูปร่างของเซลล์และตามการจัดเรียงตัวของเซลล์
เมื่อพิจารณาจากรูปร่างเซลล์ (ภาพที่ 1.4 ) พบว่าแบ่งเนื้อเยื่อบุผิวได้เป็น 3 ชนิด คือ

   1. squamous epithelium เซลล์มีรูปร่างแบนบาง
   2. cubiodal epithelium เซลล์มีรูปร่างทรงกระบอก ไม่สูงมาก หรือคล้ายลูกบาศก์ มองทางด้านข้างคล้ายลูกเต๋า แต่แท้จริงแล้วมีรูปร่างเป็นทรงแปดเหลี่ยม
   3. columnar epithelium เซลล์คล้ายทรงกระบอก หรือเสาเล็ก ๆ เมื่อมองทางด้านข้าง นิวเคลียสมักใกล้ฐานของเซลล์ ถ้ามีซีเลียที่ผิวหน้าด้านที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่โบกพัดสาร ต่างๆ ไปทิศทางเดียว ก็เรียกว่าเป็น ciliated columnar epithelium เช่นที่ทางเดินหายใจของคน




อาจแบ่งเนื้อเยื่อบุผิวได้เป็น 3 ชนิด ตามการจัดตัวของเซลล์ (ภาพที่ 1.5) ได้แก่
   1. simple epithelium ประกอบด้วยเซลล์เรียงกันเป็นชั้นเดียว มักพบในบริเวณที่สารต้องแพร่ผ่านเนื้อเยื่อ หรือบริเวณที่สารต้องถูกหลั่งหรือถูกกำจัดหรือถูกดูดซึม
   2. stratified epithelium ประกอบด้วยเซลล์เรียงซ้อนกัน 2 ชั้นขึ้นไป พบที่ผิวหนังและเยื่อบุหลอดอาหารของคนและสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ
   3. Pseudostratified epithelium มีการเรียงตัวกันของเซลล์ที่มองดูเหมือนกับมีเซลล์อยู่ซ้อนกันหลายชั้น แต่ความจริง ทุกเซลล์ยังติดอยู่บนเยื่อรองรับฐานทั้งสิ้น เพียงแต่บางเซลล์ไม่สูงพอที่จะยื่นไปถึงผิวหน้าอิสระของเนื้อเยื่อ และถูกเบียดอยู่ด้านล่าง ทำให้เห็นเหมือนมี 2 ชั้น
หรือมากกว่านั้น พบที่ทางเดินหายใจบางส่วน ซึ่งเซลล์ชั้นบนสุดมีซีเลีย และพบที่ท่อของต่อมหลายชนิด ในการพิจารณาชนิดของเนื้อเยื่อบุผิว มักพิจารณาจากรูปร่าง และการจัดเรียงของเซลล์ควบคู่กันไป และเรียกชื่อระบุลักษณะทั้ง 2 ประการนี้ เช่น
  - simple cubiodal epithelium หมายถึงเนื้อเยื่อบุผิวที่มีเซลล์ลูกบาศก์เรียงตัวเป็นชั้นเดียว
  - stratified squamous epithelium หมายถึง เนื้อเยื่อบุผิวชนิดที่มีเซลล์แบบแบนบางเรียงตัวกันอยู่หลาย ๆ ชั้น เป็นต้น

    สำหรับเนื้อเยื่อบุผิวชนิด stratified ยังพบชนิดพิเศษชนิดหนึ่งซึ่งเซลล์อาจเปลี่ยนรูปร่างได้ชั่วคราว หรือเปลี่ยนรูปร่างกลับไปกลับมาได้ เช่น ที่ผนังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีการยืดขยายตัวในบางครั้งเพื่อรองรับปริมาณปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น เซลล์ที่บุผิวจะเปลี่ยนแปลงจากรูปลูกบาศก์
ที่แบนราบลงกว่าเดิม เมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะขยายออก เรียกเนื้อเยื่อบุผิวชนิดว่า เป็นแบบ stratified transitional epithelium



เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
    เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำหน้าที่สำคัญ คือ เป็นตัวเชื่อมหรือประสานระหว่างเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในร่างกาย ช่วยค้ำจุนร่างกายหรือโครงสร้างต่าง ๆ และป้องกันอวัยวะที่อยู่ข้างใต้ โดยเกือบทุกอวัยวะในร่างกายจะต้องมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเป็นร่างแหค้ำจุน ช่วยทำหน้าที่คล้ายกันชน หรือหมอนกันกระเทือน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันมีหลายชนิดหลัก ๆ 8 ชนิด ได้แก่
   1. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดโปร่งบาง (loose หรือ areolar connective tissue)
   2. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดแน่นทึบ (dense connective tissue)
   3. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดอิลาสติก (elastic connective tissue)
  4. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดตาข่าย (reticular connective tissue)
  5. เนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue)
  6. กระดูกอ่อน (cartilage)
  7. กระดูก (bone)
  8. เลือด (blood)

ลักษณะสำคัญของเนื้อเยื่อชนิดนี้ คือ ประกอบด้วยเซลล์จำนวนไม่มากนัก และมีสารภายนอกเซลล์ล้อมรอบอยู่เป็นจำนวนมาก สารภายนอกเซลล์เหล่านี้ประกอบด้วยเส้นใย (fiber) เล็กบางคล้ายเส้นด้ายกระจายอยู่ทั่วไปในสารประกอบพวกพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเจล
(gel) บาง ๆ หลั่งจากเซลล์ ซึ่งเรียกว่า เมทริกซ์ (metrix) เซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างชนิดกัน จะต่างกันที่รูปร่างและโครงสร้างของเซลล์และชนิดของเมทริกซ์ที่เซลล์สร้าง สมบัติและการทำงานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของชนิด ส่วนหนึ่งขึ้นกับ โครงสร้างและสมบัติสารระหว่าง
เซลล์หรือเมทริกซ์นี้ ดังนั้นเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจึงทำหน้าที่ค้ำจุนทางอ้อม โดยทำหน้าที่เป็นผู้สร้างเมทริกซ์ที่แท้จริง

ชนิดของเส้นใยของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
   1. collagen fiber พบมีจำนวนมากที่สุด กระจายอยู่ทั่วไปทุกทิศทาง ประกอบด้วยมัดของ fibril เล็ก ๆ เรียงขนานกันอยู่ มีสมบัติโค้งงอได้ แต่ก็สามารถต้านทานแรงตึงได้ เมื่อถูกดึงจะยืดได้น้อยมาก และถ้าใช้แรงดึงมาก ๆ ก็ขาดได้
   2. elastic fiber มีลักษณะแตกแขนงเป็นกิ่งก้านสาขามากและเชื่อมกันเป็นตาข่าย เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นประกอบด้วย microfibril มากมาย แต่ไม่เป็นมัดอย่าง collagen fiber สามารถดึงให้ยืดได้ และเมื่อปล่อยจะกลับสู่ขนาดเดิมและรูปร่างเดิมได้
   3. reticular fiber มีขนาดเล็กมากและแตกแขนงเป็นตาข่ายละเอียดมากมองไม่เห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดาต้องย้อมด้วยเงินจึงจะมองเห็นได้ collagen และ reticular fiber ประกอบด้วยโปรตีนที่เรียกว่า collagen ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด เช่น glycine, proline และ hydroxyproline ซึ่ง collagen นี้เป็นโปรตีนที่แข็งและเหนียวมาก ดังนั้น ถ้าอยู่ในโครงสร้างใด โครงสร้างนั้นจะแข็งแรงมาก เช่น เนื้อสัตว์แต่ถ้าใส่น้ำร้อน collagen จะเปลี่ยนเป็น gelatin ซึ่งเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ เราพบว่าโปรตีนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็น collagen เสียประมาณ 1/3 ของโปรตีนทั้งหมด

ชนิดของเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

   1. fibroblast ทำหน้าที่สร้างโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตของเมทริกซ์และเส้นใย และหลั่งสารประกอบโปรตีนเฉพาะชนิด ซึ่งจะจัดตัวเป็นเส้นใย จะมีกิจกรรมมากเป็นพิเศษในเนื้อเยื่อที่
   2. กำลังเจริญ และบาดแผลที่กำลังสมาน ขณะที่เนื้อเยื่อมีอายุมากขึ้น จำนวน fibroblast จะลดลง และทำหน้าที่น้อยลง เรียกชื่อใหม่ว่า fibrocyte
  3. pericyte เป็นเซลล์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะ (differentiate) พบอยู่ตามผนังด้านนอกของเส้นเลือดฝอยที่กระจายไปทั่วเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เข้าใจว่าเป็นผู้สร้างหรือให้กำเนิดเซลล์อื่น เช่น เมื่อมีบาดแผล pericyte จะแบ่งตัวได้เป็น fibroblast
  4. macrophage พบได้ทั่วไปในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เคลื่อนที่ทั่วไปในเนื้อเยื่อเพื่อเก็บเศษเซลล์และจับกินสารแปลกปลอม เช่น เชื้อโรค แบคทีเรีย
  5. mast cell ปล่อยสาร เช่น histamine ออกมาระหว่างเกิดปฎิกิริยาการแพ้นอกจากเซลล์ทั้ง 4 ชนิดนี้แล้วก็จะเป็นเซลล์เฉพาะที่พบในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน



1. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดโปร่งบาง (ภาพที่ 1.6)
   เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่กระจายอยู่มากที่สุดในร่างกาย พบเป็นแถบบาง ๆ อยู่ระหว่างส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยึดอวัยวะไว้ด้วยกัน และทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บสะสมหรือสำรองของเหลว และเกลือ เนื้อเยื่อชนิดนี้หุ้มรอบเส้นประสาท เส้นเลือด และกล้ามเนื้อ ส่วนที่ผิวหนัง ชั้น
ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันนี้รวมกับเนื้อเยื่อไขมัน ก็คือชั้น subcutaneous หรือชั้นใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ รวมทั้งโครงสร้างอื่นข้างใต้ ในเมทริกซ์ซึ่งมีสารประกอบไกลโคโปรตีน จะมีเส้นใย collagen และ elastic กระจายทั่วไปทุกทิศทาง มีสมบัติโค้งงอได้ ฉะนั้นจึงทำให้ส่วนที่ติดต่อ
อยู่เคลื่อนไหวได้ดี

2. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดทึบ (ภาพที่ 1.7)
   เป็นเนื้อเยื่อที่มีความแข็งแรงมาก และโค้งงอได้ แต่น้อยกว่าชนิดโปร่งบาง ประกอบด้วย collagen fiber เป็นส่วนใหญ่ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
   - แบบ irregular มีcollagen fiber จัดตัวเป็นมัดกระจายทุกทิศทางทั่วไปในเนื้อเยื่อ พบที่ชั้น dermis ของผิวหนัง
   - แบบ regular มีcollagen fiber ที่เป็นระเบียบแน่นอน ทำให้เนื้อเยื่อแข็งแรงและต้านทานแรงต่าง ๆ ได้ดีมาก ตัวอย่าง คือ เอ็นที่ยึดระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก (tendon)




3. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันแบบอิลาสติก
ประกอบด้วยมัดของ elastic fiber เรียงขนานกัน เป็นส่วนใหญ่ พบที่เอ็นที่ยึดระหว่างกระดูกกับกระดูก (ligament) (ภาพที่ 1.8) และพบที่โครงสร้างที่ต้องขยายและกลับสู่สภาพเดิม เช่น ผนังของเส้นเลือดอาร์เทอรีขนาดใหญ่ และเนื้อเยื่อปอด



4. เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดตาข่าย(ภาพที่ 1.9)
ประกอบด้วย reticular fiber สานกันไปมา ทำหน้าที่ค้ำจุนอวัยวะหลายอย่าง เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง


 



5. เนื้อเยื่อไขมัน (ภาพที่ 1.10)
   แต่ละเซลล์ของเนื้อเยื่อชนิดนี้ มีไขมันพวก triglyceride สะสมอยู่จำนวนมาก และจะปล่อยออกมาเมื่อร่างกายต้องการใช้ในการหายใจระดับเซลล์ พบในชั้นใต้ผิวหนัง และเนื้อเยื่อที่ป้องกันอวัยวะภายใน เมื่อยังเจริญไม่เต็มที่ เซลล์มีรูปร่างคล้ายรูปดาว เมื่อมีไขมันมาสะสมใน
ไซโทพลาซึม เซลล์จึงมีรูปร่างกลมขึ้น ๆ เนื่องจากหยดไขมันมารวมกันใหญ่ขึ้น จนเห็นเป็นหยดเดียว มักจะกินเนื้อที่ หรือปริมาตรเกือบทั้งหมดของเซลล์ (อาจถึง 90%) ทำให้ดันไซโทพลาซึม และออร์แกเนลล์ไปที่ขอบเซลล์ และเห็นนิวเคลียสโป่งออกมา เมื่อดูภาพตัดขวาง
ด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา จึงเห็นเหมือนเป็นวงแหวนมีพลอย 1 เม็ด (โดยเรือนแหวนคือไซโทพลาซึมและเม็ดพลอย คือนิวเคลียส) บางครั้งจึงเรียกว่า signet ring cell ส่วนที่มีไขมันอยู่จนเกือบเต็มเซลล์จะเห็นเป็นเพียงช่องว่างขนาดใหญ่ภายในเซลล์ เนื่องจากสีที่ย้อมในการทำสไลด์ละลายไขมันออกไป




6. กระดูกอ่อน (ภาพที่ 1.11)
   เป็นแกนทำหน้าที่ค้ำจุนในสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด ขณะที่เป็นเอมบริโอ แต่ส่วนใหญ่เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะถูกแทนที่ด้วยกระดูก ยกเว้นในปลากระดูกอ่อน เช่น ฉลาม กระเบน ซึ่งมีกระดูกอ่อนตลอดชีวิต มีลักษณะเหนียว แข็งแรงแต่ยืดหยุ่นได้ เซลล์กระดูกอ่อน เรียกว่า
chondrocyte สร้างเมทริกซ์ ซึ่งแข็งและเหนียวรอบ ๆ เซลล์ อยู่ในช่องว่างเล็ก ๆ จะพบ chondocyte อยู่เดี่ยวๆ หรืออาจเป็นกลุ่ม 2 หรือ 4 เซลล์ อยู่ในช่องว่างเล็กๆ เรียก lacuna ซึ่งอยู่ในเมทริกซ์และเซลล์เหล่านี้เป็นเซลล์ที่มีชีวิต


อาจแบ่งกระดูกอ่อนได้เป็น 3 ชนิดของเส้นใยส่วนใหญ่ที่พบในเมทริกซ์ คือ
   - Hyaline cartilage (ภาพที่ 1.12) Matrix ไม่มีเส้นใยอยู่ พบอยู่ตามข้อต่อของกระดูกต่างๆ เยื่อกั้นจมูก (Nassal septum) หลอดลม และกระดูกอ่อนของซี่โครง




   - Elstic carilage (ภาพที่ 1.13) Matrix เต็มไปด้วย collagen fiber + elastic fiber พบตามใบหู กล่องเสียงและฝาปิดกล่องเสียง



   - Fibrocartilage (ภาพที่ 1.14) Matrix เต็มไปด้วย collagen fiber พบตามข้อต่อของกระดูกสันหลัง (intervertebral disk) และข้อต่อของกระดูกอื่นๆ



7. กระดูก(ภาพที่ 1.15)
   คล้ายกระดูกอ่อนตรงที่ประกอบด้วยเมทริกซ์เป็นส่วนใหญ่ซึ่งมี lacuna และมีเซลล์ที่สร้างเมทริกซ์ แต่ต่างกันที่เมทริกซ์ มิได้มีแต่ collagen, mucopolysaccharide และสารอินทรีย์อื่นเท่านั้น ยังมีแร่ธาตุ apatite ซึ่งเป็นสารประกอบของแคลเซียมฟอสเฟตอยู่ด้วย ดังนั้น การ
แพร่จะเกิดได้ช้ามาก การสารอาหาร และออกซิเจนโดยอาศัยการแพร่อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงเซลล์กระดูกได้ เซลล์กระดูกหรือ Osteocyte จึงมีการติดต่อกันเอง และการติดต่อกับเส้นเลือดฝอย โดยทางช่องเล็ก ๆ บางๆ ของเซลล์เอง ทำให้เห็นเป็นเซลล์รูปดาว อาจเรียก
ว่า Osteoblast ดังนั้น เซลล์ กระดูกจะต้องอยู่ใกล้เส้นเลือดให้มากที่สุดเพื่อช่วยการแพร่ของสาร จึงพบว่าในกระดูกส่วน ใหญ่ เซลล์กระดูกจัดตัวรอบเส้นเลือดฝอยเส้นหนึ่ง และอยู่เป็นชั้น ๆ รอบวงกลมที่มีเส้นเลือด ฝอยอยู่ตรงกลาง ชั้นเหล่านี้ เรียกว่า lamella ซึ่งจัดตัวเป็นหน่วยรูปกระสวยเรียกว่า osteon ส่วนช่องกลางที่เป็นที่อยู่หรือทางผ่านของเส้นเลือดฝอยและเส้นประสาท เรียกว่า Haversian canal กระดูกยังประกอบด้วยเซลล์ขนาดใหญ่ซึ่งมีหลายนิวเคลียสเรียก osteoclast ซึ่งสามารถละลายและดึงสารประกอบของกระดูกออกได้ รูปร่างและโครงสร้างภายในของกระดูกอาจค่อยๆ เปลี่ยนตามกระบวนการเติบโตปกติ และต่อแรงกดดันทางกายภาพ โดยเกลือแคลเซียมทำให้เมทริกซ์ของกระดูกแข็งมาก ส่วน Collagen ช่วยไม่ให้เปราะเกินไป ดังนั้นกระดูกจึงเบา และแข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ โครงสร้างทั้งหมดเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของกระดูกแข็งที่เรียก compact bone ซึ่งเป็นกระดูกที่พบทั่วไปในร่างกาย เช่น กระดูกท่อนยาวที่ขา แขน เป็นต้น ภายในกระดูกแข็งแบบนี้มีไขกระดูก (bone marrow) ขนาดใหญ่ 1 อันอยู่ตรงกลาง ซึ่งอาจเป็น yellow marrow ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมัน หรือ red marrow ซึ่งเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาวบางชนิด นอกจากนี้ ยังมีกระดูกอีกชนิดหนึ่ง คือ spongy bone ซึ่งแน่นและแข็งน้อยกว่า compact bone แต่จัดตัวเป็นร่างแหของชั้นกระดูกต่อกัน ปกติพบที่ส่วนปลายของกระดูกแข็งที่เรียก epiphysis (ภาพที่ 1.15)



8. เลือด (ภาพ 1.16)
   ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง (erythrocyth) ,เม็ดเลือดขาว (leucocyte) และเกล็ดเลือด (platelet) แขวนลอยอยู่ในพลาสมาซึ่งเป็นของเหลว นักชีววิทยาส่วนใหญ่ถือว่าเลือดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เพราะการทำงานของเลือดใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันโดยทั่วไปแต่บางคนแยก
เป็นกลุ่มต่างหาก เพราะตามคำจำกัดความ เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันจะต้องสร้างเมทริกซ์ออกมารอบ ๆ แต่เซลล์เม็ดเลือดไม่ได้สร้างพลาสมา สามารถแยกความแตกต่างของเม็ดเลือดทั้ง 2 ชนิด และเกล็ดเลือดได้ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา
   - เม็ดเลือดแดง ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ เมื่อเจริญเต็มที่จะไม่มีนิวเคลียส จึงเห็นเป็นลักษณะเว้า 2 ด้าน ส่วนของสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นจะเป็นเซลล์รูปไข่และมีนิวเคลียส ในสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่รงควัตถุที่จับออกซิเจนได้ จะไม่อยู่ที่เม็ดเลือด แต่อยู่ใน
พลาสมามีสีแดง หรือสีฟ้าขึ้นกับชนิดของรงควัตถุ ส่วนในสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่รงควัตถุจับออกซิเจน คือ ฮีโมโกลบิน ซึ่งเกาะอยู่ที่เม็ดเลือดแดง
   - เม็ดเลือดขาว ในคนมีหลายชนิด ต่างกันที่รูปร่าง โครงสร้าง นิวเคลียส การติดสีและหน้าที่
   - เกล็ดเลือด ไม่ใช่เซลล์ทั้งเซลล์ แต่เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่แตกจากเซลล์ในไขกระดูก